โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

                     มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ พัฒนาต่อเนื่องมาจากโครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ในเวลานั้น โครงการปิดทองหลังพระฯ มีพันธกิจตามมติคณะรัฐมนตรี คือ เพื่อฉลองพระชนมายุครบ ๘๐ และ ๘๔ พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ประชาชนสามารถเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ตรงจากแนวทางโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และน้อมนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมการเรียนรู้ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่และส่งเสริมอาชีพประชาชน รวมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ และกระตุ้นจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และศิลปวัฒนธรรมไทย
ในการดำเนินงานของโครงการปิดทองหลังพระฯ เพื่อสืบสานแนวพระราชดำริ ให้ขยายผลสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง คณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เห็นชอบให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการจัดตั้ง "มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ" และ "สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ" ทั้งนี้ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๓

 

โครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ จว.น่าน
                     กองทัพภาคที่ ๓ ได้ดำเนินการสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดน่าน ในการจัดกำลังพลและเครื่องมือช่างเข้าปฏิบัติงานโครงการซ่อมแซม ปรับปรุง เสริมฝาย อ่างเก็บน้ำ การส่งน้ำด้วยระบบท่อ ตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการเกษตรและชนบทของจังหวัดน่าน ซึ่งการดำเนินการในปัจจุบันนั้น เมื่อมีการดำเนินการดังกล่าวจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการซ่อมแซมปรับปรุงระบบน้ำ รวมทั้งสิ้น ๘๘,๔๕๒ ไร่ โดยจังหวัดน่านได้ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนการผลิต การตลาด การเสนอแนวทางการผลิตสินค้าทางการเกษตรเพื่อให้มีทางเลือกในการทำเกษตรกรรมในที่ดินทำกินของตนเอง
ปัจจุบันมีโครงการที่จังหวัดน่านขออนุมัติไปได้รับการอนุมัติแล้วทั้งสิ้น ๔๒๒ โครงการ รวมพื้นที่ ๘๘,๔๕๒ ไร่ และหากอำเภอใดมีพื้นที่ที่จะดำเนินการเพิ่มเติม สามารถเสนอโครงการเพิ่มเติมได้ โดยให้สำรวจสภาพปัญหาของฝาย อ่างเก็บน้ำ คลองส่งน้ำ และการส่งน้ำด้วยระบบท่อ เฉพาะที่ชำรุดหรือใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ พร้อมจัดทำแบบแปลน รายละเอียดประมาณการค่าใช้จ่าย และการประเมินผลผลิตทางการเกษตรก่อนดำเนินการกับหลังดำเนินการ พร้อมทั้งได้รับการกลั่นกรองโครงการโดยประชาชนในพื้นที่ บนพื้นฐาน “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมลงมือปฏิบัติ” ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

ภาพกิจกรรมการปฏิบัติงานร่วมกับคณะทำงานโครงการปิดทองหลังพระฯ พื้นที่ จว.น.น.

 
 
               เมื่อ ๒๙ พ.ค. ๕๘ ฉก.ทพ.๓๒ จัด กพ. ร่วมกับ จนท.โครงการปิดทองหลังพระฯ และ ผู้นำท้องถิ่น บ.เปียงซ้อ ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จว.น.น. ทำการขนย้ายปูนซีเมนต์ จำนวน   ๑๐๐ ถุง เพื่อเตรียมการสร้างฝายต้นน้ำลำธาร บริเวณ บ.เปียงซ้อฯ จำนวน ๒ ฝาย
 

โครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จว.อ.น.
               มูลนิธิปิดทองหลังพระ ร่วมกับจังหวัดอุทัยธานี และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๔ สาขานครสวรรค์ จัดทำโครงการฯ ขึ้น ในปี ๒๕๕๗ เมื่อกรมป่าไม้อนุมัติโครงการให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๙ แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ ซึ่งพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมรอยต่อระหว่างป่าสงวนแห่งชาติห้วยขาแข้ง กับป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยท่ากวยและป่าห้วยกระเวน ๔ หมู่บ้าน คือ บ.ใต้, บ.คลองเสลา, บ.คลองอังวะ และ บ.อีมาด-  อีทราย ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จว.อุทัยธานี พื้นที่ ๒๑,๖๐๐ ไร่ จังหวัดอุทัยธานี ได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดการโครงการฯ โดยมี ผวจ. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานด้านการบริการน้ำ คณะทำงานด้านการเกษตรและพัฒนาอาชีพ และทีมปฏิบัติงานระดับพื้นที่ กำหนดรูปแบบหลักของการเกษตร ประกอบด้วย ๓ ทางเลือก ได้แก่
               ๑. การทำเกษตรในพื้นที่ลาดชันอาศัยน้ำฝน (พื้นที่ประมาณ ๒๐ ไร่)
               ๒. การเกษตรประณีต ปลูกพืชผสมผสาน (พื้นที่ ๕ ไร่)
               ๓. การเกษตรประณีต ปลูกพืชผสมผสานร่วมกับเลี้ยงสัตว์ (พื้นที่ ๕ ไร่)
ปัญหาข้อขัดข้อง คือ ราษฎรประมาณร้อยละ ๑๐ ยังไม่เข้าร่วมโครงการ อาจเป็นเพราะยังขาดความเชื่อมั่น อย่างไรก็ตามได้มีราษฎรขอเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จะมีการสำรวจพื้นที่ของราษฎรที่เข้าร่วมโครงการอีกครั้งโดยชุดปฏิบัติการของ อ.บ้านไร่ ซึ่งมี นอภ.บ้านไร่ เป็นหัวหน้า
ต่อมา สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มีหนังสือถึง ผบ.ทบ. ขอให้ ทบ. พิจารณาให้สถาบันฯ ใช้พื้นที่เฉพาะหมู่ที่ ๔ บ.อีมาด - อีทราย ต.แก่นมะกรูด อ.บ้าไร่ จว.อุทัยธานี จำนวน ๕,๐๒๒ ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ ทบ. ขอใช้ประโยชน์ไว้เดิมจากกรมป่าไม้ เพื่อเข้าดำเนินโครงการฯ และต่อมา ผบ.ทบ. (ผช.ผบ.ทบ.(๒) รับคำสั่งฯ) ได้กรุณาอนุมัติการใช้พื้นที่หมู่ที่ ๔ บ.อีมาด-  อีทราย ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จว.อ.น. จำนวน ๕,๐๒๒ ไร่ เพื่อดำเนินงานโครงการดังกล่าว ในการแก้ไขปัญหาความยากจน พัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยนำองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริมาปรับใช้อย่างเหมาะสม และกรุณามอบหมายให้ ทภ.๓ (โดย มทบ.๓๑) ควบคุม กำกับดูแลการดำเนินการโครงการฯ ดังกล่าว ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการใช้พื้นที่สำหรับการปฏิบัติภารกิจของหน่วยต่อไป

 

ภาพกิจกรรมการปฏิบัติงานโครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จว.อ.น.

 
 

                   เมื่อ ๒๒ พ.ค.๕๘ ร.๔ พัน.๒ จัดกำลังพล ๑๕ นาย ร่วมกับ โครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ ( มูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ) ต.แกนะกรูด อ.บ้านไร่ จว.อ.น.,  องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานีและ คณะข้าราชการในโครงการ "พัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่รุ่นที่ ๙  ของ สำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน ๓๙ คน ร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำ จำนวน ๑ แห่ง บริเวณลำห้วยคลองอังวะ บ.เจ้าวัด ม.๔ ต.แก่นมะกรูด  อ.บ้านไร่  จว.อ.น. ผลการปฏิบัติ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

 
จัดทำโดย กกร.ทภ.๓