วันอาสาฬหบูชา (15 ค่ำ เดือน 8)

 

        วัน อาสาฬหบูชา คือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวัน หนึ่ง ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ก่อนวันเข้าพรรษา 1 วัน 

         หลังจาก สมเด็จพระพุทธองค์ ได้ตรัสรู้ในวันเพ็ญ เดือน 6 แล้ว ได้ทรงใช้เวลาทบทวนสัจธรรมและทรงคำนึงว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้ง มาก ยากที่ผู้อื่นจะรู้ตาม แต่อาศัยพระกรุณานี้เป็นที่ตั้งจึงทรงพิจารณาแบ่ง บุคคลออกเป็น 4 ประเภทคือ  

  1. อุคฆติตัญญู ผู้ที่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ทันทีทันใดในขณะที่มีผู้สั่งสอน เปรียบเหมือนดอกบัวที่โผล่ขึ้นพ้นน้ำแล้ว พร้อมที่จะบานเมื่อได้ได้รับแสงอาทิตย์ในวันนั้น
  2. วิปัจจิตัญญู สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ ต่อเมื่อท่านได้ขยายความให้พิสดารออกไป เปรียบเหมือนดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอระดับน้ำ จะบานในวันรุ่งขึ้น
  3. เนยยะ ผู้ที่พากเพียรพยายาม ฟัง คิด ถาม ท่องอยู่เสมอไม่ทอดทิ้ง จึงได้รู้ธรรมวิเศษเปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังไม่โผล่ขึ้นจากน้ำ แต่เมื่อได้รับการหล่อเลี้ยงจากน้ำแล้ว ก็ย่อมจะโผล่และบานขึ้นในวันต่อ ๆ ไป
  4. ปทปรมะ ผู้ที่แม้ฟัง คิด ถาม ท่องแล้ว ก็ไม่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำกับเปือกตม รังแต่จะเป็นอาหารเต่าและปลา

         เมื่อทรงเล็งเห็นเหตุนี้แล้ว พระพุทธองค์ตกลงพระทัยที่จะสอนบุคคลประเภทแรกก่อน จึงเสร็จจากตำบลพระศรีมหาโพธิ ถึงกรุงพาราณสี ในตอนเย็นวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน อาสาฬหะ ประทับแรมอยู่กับพระปัญจวัคคีย์นั้น รุ่งขึ้นวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตสูตรโปรดพระปัญจวัคคีย์ สรุปลงด้วยอริยสัจ 4 ได้แก่

  1. ทุกข์ ความ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
  2. สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
  3. นิโรธ ความดับทุกข์
  4. มรรค ทางที่จะปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ 

         เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงเทศนาเป็นกัณฑ์แรก จึงเรียกเทศฯกัณฑ์นี้ว่า "ปฐมเทศนา"

         ขณะที่ทรงแสดงธรรมอยู่นั้น ท่าน โกณฑัญญะ หรือ อัญญาโกณฑัญญะ หัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์มีความเข้าใจในหลักสัจธรรมของพระองค์ จึงได้สมัครเข้าเป็นสาวก นับเป็น"ปฐมสาวก" ของพระพุทธเจ้า

         หลังจากนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะทูลขออุปสมบท ซึ่งพระพุทธองค์ประทานอนุญาต ด้วย "เอหิภิกขุ อุปสัมปทา" นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนาที่บวชตามพระพุทธองค์
         จะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์สำคัญ ๆ ในวันนี้มีถึง 4 ประการ ด้วยกันคือ 

  1. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ปฐมเทศนา
  2. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงได้ ปฐมสาวก
  3. เป็นวันแรกที่พระสงฆ์เกิดขึ้นใน โลก
  4. เป็นวันแรกที่บังเกิดรัตนะครบสาม เป็นพระรัตนตรัย คือ
    พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ
        

         เดิมวันนี้ไม่มีพิธีพิเศษ คงเนื่องมาจากวันก่อนเข้าพรรษาเพียงวันเดียว ประชาชนชาวพุทธได้ประกอบการบุญการกุศลเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ต่อมาสังฆมนตรี มีมติให้ชาวพุทธประกอบการบูชาเป็นพิเศษในวันนี้ และเรียกว่า "วัน อาสาฬหบูชา" เมื่อรัฐบาลเห็นชอบด้วยจึงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชา นุมัติ

         จึงนับแต่ปี พ.ศ. 2504 จนถึงปัจจุบัน เมื่อถึงวัน อาสาฬหบูชาพวกเราชาวพุทธ ต่างก็ประกอบการบูชาเป็นพิเศษตลอดวันนั้น นับตั้งแต่รับศีล ฟังเทศน์ สนทนาธรรม สวดมนต์ เดินเวียนเทียนพระพุทธสถาน เช่น รอบโบสถ์ วิหาร เจดีย์ หรือต้นศรีมหาโพธิ เป็นต้น เช่นเดียวกันวันมาฆบูชา วิสาขบูชา ต่างกันที่เปลี่ยนคำบูชาพระก่อนเวียนเทียนตามประกาศของสำนักสังฆนายก

 
ขอขอบพระคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : http://www.tlcthai.com
 

พระสังฆราช ประทานโอวาท วันอาสาฬหบูชา

 
พระสังฆราช ประทานโอวาท วันอาสาฬหบูชา (ไอเอ็นเอ็น)
 
           สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช แจ้งพระสังฆราช ประทานโอวาทวันอาสาฬหบูชา

           สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช แจ้งว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระโอวาท วันอาสาฬหบูชา พ.ศ.2553 ความว่า วันอาสาฬหบูชา เป็นวันบูชาที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งในพุทธศาสนา ตรงกับวันพระจันทร์เต็มดวง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือ เดือนอาสาฬหะ เป็นวันที่เจ้าชายสิทธัตถะ หลังจากได้ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ทรงเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ 2 เดือน ได้ทรงแสดงพระปฐมเทศนา ทรงประกาศพระธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นครั้งแรก โปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี ท่านโกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรม รู้ว่า "สิ่งใด สิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา"

           โดย สมเด็จพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเปล่งพระพุทธวาจาให้เป็นที่ประจักษ์ว่า อัญญาโกณฑัญญะ คือ "โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ" วันนั้นจึงเป็นวันที่พระรัตนตรัยเกิดครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ องค์แรกที่เกิดขึ้นคือ ท่านโกณฑัญญะ ด้วยพระบารมี พระรัตนตรัย จงมั่นใจ และจงปฏิบัติเทิดทูนบูชาพระรัตนตรัย ให้เต็มจิตใจทุกเวลา ขออำนวยพร

ขอขอบคุณข้อมูลจาก kapook.com